ภารกิจ>>งานคุมประพฤติ>>การคุมความประพฤติ>>การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่



การคุมความประพฤติกระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

หมายถึง การคุมความประพฤติ ผู้กระทำผิดที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่การกระทำผิดได้เกิดขึ้น

๑.๑ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ ประกอบด้วยกฎหมายสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

·        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖-๕๘ มาตรา ๗๔-๗๕

·        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๖

·        พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙

๑.๒ ผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

          ผู้มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ คือ ศาล ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙

          ศาล หมายถึง ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา แต่ไม่รวมถึงศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่ในคดีอาญาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งผู้กระทำความผิดมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น

๑.๓ เงื่อนไขการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

ในกรณีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ วรรคสอง ดังนี้

๑. ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

๒. ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

๓. ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

๔. ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

๕. เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก

          ในการกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤตินี้ เป็นดุลพินิจของศาล ศาลอาจวางเงื่อนไขทุกข้อหรือบางข้อก็ได้ ในกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมความประพฤติได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อศาลเห็นสมควรอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อใดข้อหนึ่งเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมก็ได้

๑.๔ ระยะเวลาในการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

ศาลจะพิพากษาในคุมความประพฤติแก้จำเลยรายใดไว้ภายในระยะเวลาเพียงใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรก

๑.๕ กระบวนการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

ในการปฏิบัติงานควบคุมและสอดส่องมีกระบวนการ ๖ ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ การรับคดี เป็นขั้นตอนเมื่อสำนักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือแจ้งคำพิพากษา/คำสั่งจากศาล หรือหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ / ทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ธุรการคดีจะลงทะเบียนรับคดีเข้าสู่ระบบกลาง รวบรวมเอกสารจัดตั้งสำนวนคดีแล้วมอบให้หัวหน้ากลุ่มงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะพิจารณาจ่ายคดีให้พนักงานคุมประพฤติ

ขั้นตอนที่ ๒ การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล  เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เมื่อผู้ถูกคุมความประพฤติมาพบพนักงานคุมประพฤติหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา / คำสั่งให้คุมความประพฤติ พนักงานคุมประพฤติจะดำเนินการปฐมนิเทศชี้แจงให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าใจในคำพิพากษา / คำสั่งและเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกคุมความประพฤติและจัดทำกำหนดนัดรายงานตัว

ขั้นตอนที่ ๓ วิเคราะห์และวางแผน เป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวนจะนำข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของผู้ถูกคุมความประพฤติ ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีมาวิเคราะห์และประเมินและวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยการใช้เกณฑ์ความเสี่ยงหรือแนวโน้มการกระทำผิดซ้ำและเกณฑ์สภาพปัญหาและความต้องการในการจำแนกผู้กระทำผิด

ขั้นตอนที่ ๔ ควบคุมและสอดส่องตามเงื่อนไข / แก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหา เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เพื่อควบคุมดูแลและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงหรือแนวโน้มต่อการกระทำผิดซ้ำและระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยกลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก

ขั้นตอนที่ ๕ ประเมินสรุปผลเป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติจะต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละสำนวน โดยพนักงานคุมประพฤติจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาและความต้องการซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือแผนการคุมความประพฤติที่กำหนดไว้มีการดำเนินการตามแผน เพื่อปรับแผนการคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ

ขั้นตอนที่ ๖ จัดทำรายงานการคุมความประพฤติ เป็นขั้นตอนของพนักงานคุมประพฤติในการตรวจสอบสำนวนและประมวลข้อมูลในการคุมความประพฤติผู้ถูกคุมความประพฤติที่ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งในกรณีที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ มาจัดทำเป็นรายงานการคุมความประพฤติเพื่อเสนอต่อศาลหรือกรมราชทัณฑ์

๑.๖ แผนภูมิกระบวนการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่