ภารกิจ>>งานคุมประพฤติ>>ความเป็นมา



การคุมความประพฤติ

การคุมความประพฤติหรือการควบคุมและสอดส่อง (Supervision) เป็นวิวัฒนาการของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในแนวทฤษฏีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งเชื่อว่า พฤติกรรมการกระทำผิดของมนุษย์เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่างๆทั้งด้านชีวภาพและสภาพแวดล้อม ดังนั้น การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางสังคมที่จะส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งด้วยกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการทางพฤติกรรมศาสตร์

ความหมายของการคุมความประพฤติ

           การควบคุมและสอดส่อง เป็นรูปแบบและวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดในการปรับปรุงแก้ไขตนเองในชุมชน โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวไว้ แต่กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติไว้ให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติ และมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำและสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิดแต่ละราย เพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นใหม่ ตลอดจนได้รับการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข

วัตถุประสงค์การคุมความประพฤติ

๑. เพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัว

๒. เพื่อควบคุมพฤติกรรมและตัดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ ด้วยการควบคุมดูแลตามระดับความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำและสงเคราะห์ช่วยเหลือตามความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิดแต่ละราย ให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต

๓. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของสังคมและปกป้องชุมชนสังคมให้ปลอดพ้นจากอาชญากรรม

ประโยชน์ของการคุมความประพฤติ

๑. การคุมความประพฤติผู้กระทำผิด สามารถแก้ไขฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับตนเป็นพลเมืองดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ

๒. ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสให้ปรับปรุงแก้ไขตนเองด้วยมาตรการแก้ไขฟื้นฟูในชุมชน โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัว

๓. การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล มีผลดีต่อผู้กระทำผิดมากกว่าการจำคุก เนื่องจากผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตีตรา และหลีกเหลี่ยงการเรียนรู้ประสบการณ์อาชญากรรมจากเรือนจำ

๔. เป็นวิธีการส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดยังคงมีความสัมพันธ์กับครอบครัว สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

๕. ลดการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิด

๖. ป้องกันสังคมจากอาชญากรรม

๗. ประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดด้วยระบบควบคุมตัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการควบคุมในสถานควบคุมสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการคุมความประพฤติ

๘. บรรเทาความแออัดในเรือนจำ

        ปัจจุบันการดำเนินงานคุมความประพฤติในความรับผิดชอบโดยตรงของกรมคุมประพฤติ แบ่งออกตามกลุ่มผู้กระทำผิดได้เป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

           ๑.     การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่

           ๒.     การคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

           ๓.     การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน